ส่องข้อดี-ข้อเสีย “รถยนต์ไฟฟ้า” ขับลุยน้ำท่วมได้นานแค่ไหน ควรดูแลแบตเตอรีอย่างไร

 

     รถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา หลายค่ายหลากแบรนด์ที่ผลิตรถยนต์ต่างปรับตัวแข่งขันกันอย่างดุเดือด เป็นผลดีกับผู้บริโภคที่จะได้มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นด้วย

 

     ปัจจุบันรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือที่เราเรียกว่า EV Car มีอยู่ 4 ประเภท คือ

1. รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle, HEV)

2. รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Vehicle, PHEV)

3. รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEV)

4. รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี (Battery Electric Vehicle, BEV)

 

     สำหรับ “รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี” มีการขับเคลื่อนจากมอเตอร์ไฟฟ้า 100% ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานน้อยที่สุด เนื่องจากมอเตอร์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพในการแปลง ร้อยละ 85 ของพลังงานขาเข้าให้ไปใช้ในการขับเคลื่อนล้อรถยนต์ ส่วนเครื่องยนต์แบบสันดาปภายในแปลงได้ ร้อยละ 40 ทำให้เป็นที่น่าสนใจกับคนที่กำลังมองหารถยนต์สักคันที่ไม่ต้องเติมน้ำมัน และยังช่วยเซฟเงินในกระเป๋าได้

 

 

     ผศ.ดร.สนันตน์เขม อิชโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความคิดเห็นว่า ด้วยการขับเคลื่อนที่ใช้ระบบไฟฟ้า สามารถชาร์จแบตเตอรีได้ที่บ้าน หรือสถานีบริการน้ำมันที่ให้บริการ เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรีมากขึ้น รวมทั้งการขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการก่อก๊าซพิษ และไอเสียจากเครื่องยนต์ สิ่งที่ได้ตามมาจากการใช้ระบบมอเตอร์ไฟฟ้า คือการขับเคลื่อนและออกตัวได้ดีกว่าเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการขับขี่ที่เบาและเงียบ ไม่มีเสียงเครื่องยนต์มารบกวน

     “การใช้มอเตอร์ไฟฟ้า จะมีเสียงรบกวนจากการทำงานน้อยกว่าเครื่องยนต์สันดาปที่เราใช้ในปัจจุบัน ซึ่งหากขับขี่รถในความเร็วต่ำ รถจะเงียบมาก ทำให้ประเทศในโซนยุโรปที่นิยมรถยนต์ไฟฟ้า มีการออกกฎให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต้องติดตั้งเสียงจำลอง สำหรับเตือนคนภายนอก เมื่อขับขี่ในความเร็วต่ำ” ผศ.ดร.สนันตน์เขม กล่าว

     มอเตอร์ไฟฟ้ามีข้อดีในแง่การตอบสนองการขับขี่ที่ดีกว่า ถ้าตรวจสอบรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในไทย จะพบว่า เกือบทุกรุ่นจะมีกำลังขับมากกว่า 150 แรงม้าขึ้นไป (ยกเว้น Fomm One) และด้วยความสามารถของมอเตอร์ไฟฟ้า จึงมาพร้อมกับแรงบิดที่ดีกว่าเครื่องยนต์สันดาป ทำให้สามารถออกตัวได้อย่างรวดเร็ว เร่งแซงทันใจ

 

 

ข้อดีรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี

   1. เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีการปล่อยไอเสีย ไม่สร้างมลพิษ

   2. ลดมลพิษทางเสียง เพราะการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้ามีเสียงที่เงียบกว่าเครื่องยนต์ ทำให้ไม่มีเสียงเวลาขับขี่

   3. รถยนต์ไฟฟ้ามีแรงบิดมากกว่า ทำให้อัตราเร่งดีกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

   4. ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากพลังงานไฟฟ้ามีราคาถูกกว่า ส่วนการบำรุงรักษาในรถยนต์ไฟฟ้ามีเพียงมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่มีของเหลวหรือกรองของเหลวเหมือนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน และยังสามารถชาร์จแบตเตอรีจากที่บ้านได้เลย

ข้อเสียรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี

   1. ราคาสูง เนื่องจากกระบวนการผลิตยังต้องใช้เทคโนโลยีที่มีราคาสูง

   2. ระยะทางการขับขี่ อาจต้องมีการวางแผนการชาร์จระหว่างทาง สำหรับการขับขี่ระยะไกล

   3. สถานีอัดประจุยังไม่ครอบคลุม หากมีการเดินทางไกล ควรวางแผนหาตำแหน่งที่ตั้งของสถานีอัดประจุ

   4. การจัดการขยะจากแบตเตอรี ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะต้องมีการดำเนินการต่อไป

     ผศ.ดร.สนันตน์เขม กล่าวต่ออีกว่า การชาร์จแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า พอนาน ๆ ไป แบตเตอรีจะมีการเสื่อมสภาพ เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรีทุกครั้งจะต้องเกิดปฏิกิริยาบนขั่วบวก และขั่วลบ ส่งผลให้มีแผ่นตะกอนเกาะบนขั่วทั้งสอง และเป็นอุปสรรคในการส่งผ่านไฟฟ้า (Electron)

 

 

     กรณีเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม หากต้องขับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรีเพื่อลุยน้ำท่วม จะส่งผลเสียอย่างไรนั้น ผศ.ดร.สนันตน์เขม ได้ให้คำตอบว่า รถยนต์ไฟฟ้าติดตั้งระบบป้องกันที่เรียกว่า Ingress Protection (IP) และระดับ IP นี้ได้รับการจัดอันดับ (เช่น IP65 หรือ IP67) การให้คะแนนนี้สอดคล้องกับการป้องกันน้ำและฝุ่น ยิ่งคะแนนสูงเท่าใด การป้องกันก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นปัจจุบันมีระดับ IP67 ซึ่งค่อนข้างกันน้ำได้ดี การจัดอันดับนี้ยังหมายความว่ารถยนต์ไฟฟ้าสามารถลุยน้ำได้ประมาณ 3 ฟุต เป็นเวลา 30 นาที โดยไม่เสี่ยงต่อการรั่วไหลเข้าไปในส่วนประกอบไฟฟ้าของรถยนต์ เช่น ขั้วแบตเตอรีและส่วนประกอบไฟฟ้าแรงสูง รถยนต์ไฟฟ้ายังติดตั้งระบบป้องกันที่จะแยกแบตเตอรีและส่วนประกอบไฟฟ้าแรงสูงในการตรวจจับน้ำเข้าในครั้งแรก

    สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ผศ.ดร.สนันตน์เขม แนะนำว่า ควรดูลักษณะการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เช่น หากเป็นคนที่ต้องใช้รถเพื่อเดินทางไกลบ่อย ๆ ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีที่ชาร์จระหว่างทางหรือไม่ และควรดูขนาดของแบตเตอรีให้เหมาะกับการใช้งานด้วย ส่วนวิธีการดูแลรถยนต์ไฟฟ้านั้น ควรดูแลมอเตอร์ให้ดีและเข้าศูนย์บริการมาตรฐานของรถยนต์ไฟฟ้าตามเวลานัดหมาย เพราะจะมีช่างที่มีประสบการณ์เฉพาะด้านยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องมือพร้อมกว่า

 

 

ควรชาร์จไฟฟ้าให้แบตเตอรีอยู่ในสถานะเต็ม 100% และให้จอดชาร์จแบตเตอรีโดยเร็ว หากมีสัญญาณให้ชาร์จแบตเตอรีในระหว่างการขับขี่ และระยะเวลาในการชาร์จไม่ควรนานเกินไป เพราะจะเกิดการชาร์จไฟเกิน ทำให้แบตเตอรีรถยนต์ร้อน หากอุณหภูมิของแบตเตอรีสูงกว่า 65 องศา ควรหยุดการชาร์จ

     รถยนต์ไฟฟ้ามีระยะเวลาเปลี่ยนยางรถยนต์เหมือนรถทั่วไป โดยอายุการใช้งานของยางรถยนต์เฉลี่ยอยู่ที่ 30,000-40,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 2-3 ปี ซึ่งยางรถยนต์จะมียางเฉพาะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย รวมถึงเบรครถยนต์ที่ต้องดูแลเช่นเดียวกับรถที่ใช้น้ำมัน แนะนำว่าควรเปลี่ยนเบรคใหม่เมื่อผ่านการใช้งานไปแล้ว 80,000 กิโลเมตร หรือเร็วกว่านั้นขึ้นอยู่กับการใช้งาน

     ผศ.ดร.สนันตน์เขม อิชโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในมุมมองของผม สำหรับประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่รถยนต์เครื่องสันดาปแบบ 100% ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างต่าง ๆ ด้วย เช่น ความพร้อมของสถานีชาร์จ การบริหารจัดการกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย และการผลิตแบตเตอรีเองภายในประเทศ

 

แหล่งที่มา : https://tu.ac.th/thammasat-030865-tse-expert-talk-electric-vehicle